วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติเพลงเทพรัญจวน

เพลงเทพรัญจวน
เพลงเทพรัญจวน มีที่มาสายเดียวกับเพลงนิมิตกล่าวคือมาจากเพลงนางหงสส์อัตราสองชั้น ที่เก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านโบราณาจารย์ได้แต่งขึ้นไว้ใช้ในราชการบรรเลงเพลงประโคมศพ
      อันว่าเพลงนางหงส์ จัดเป็รเพลงชุดที่บรรเลงติดต่อกันหลายเพลง เริ่มต้นด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน แล้วต่อด้วยเพลงสาวสอดแหวน เพลงแสนสุดสวาท และเพลงแมลงวันทอง
      เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวนนั้นครูบัวได้แต่งขยายขึ้น เป็นอัตราสามชั้นเรียกว่าเพลงเทพนิมิต เพลงสาวสอดแหวน มีผู้นำมาปรุงแต่งขยายเป็นสามชั้น โดยแยกเป็นสองทาง คือทางธรรมดาดำเนินทำนองไปเรียบๆ คงใช้ประโคมศพตามปกติ ส่วนทางพิเศษมีแทรกลูกล้อลูกขัดไว้อย่างพิสดาร นิยมใช้บรรเลงเพลงขับร้องหรือร้องส่งกันมาจนถึงปัจจุบัน เพลงแสนสุดสวาทก็มีการแต่งขยายเป็นสามชั้นสองทาง ทำนองเดียวกับเพลงสาวสอดแหวนคือทางธรรมดาใช้ประโคมศพ ส่วนทางพิเศษใช้ร้องส่งเพลงแมลงวันทอง ต่อมาแยกทำนองแปลกเปลี่ยนออกเป็นสองทาง เพลงแมลงปอทองกับเพลงแมลงวันทอง เพลงแมลงปอทองใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงโขนละครเป็นสำคัญ ส่วนทางแมลงวันทองนั้นได้มีการนำมาปรุงแต่งเป็นเพลงเถาใช้เพลงบรรเลงร้องส่งทั่วไป ยิ่งกว่านั้นเพลงแสนสุดสวาทในภายหลังเมื่อเป็นเพลงเถาแล้ว ตอนที่อยู่ในอัตราชั้นเดียว ยังมีชื่อใหม่ว่าเพลงกระบองทองซึ่งยังมีการตัดย่อลงไปอีกชั้นหนึ่ง (เรียกว่าครึ่งชั้น) ใช้บรรเลงอยู่ในเรื่องเพลงฉิ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพลงแสนสุดสวาทนี้คือต้นกำเนิดอันเป็นที่มาของเพลงเทพรัญจวน เรื่องมีดังนี้
      ราวสมัยปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือชาวบ้านเรียกว่าครูมีแขก ได้นำเพลงแสนสุดสวาททางเรียบๆ หรือทางธรรมดามาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และตั้งชื่อใหม่ว่าเพลงเทพรัญจวน การประดิษฐ์แต่งเพลงเทพรัญจวนในครั้งนั้นก็เป็นไปอย่างเรียบๆ ไม่สู้จะพลิกแพลงโลดโผนนัก ทั้งนี้เป็นไปตามความนิยมของยุคนั้น และเพื่อให้มีลีลาเหมาะแก่การใช้บรรเลงเป็นเพลงขับร้องทั่วๆไป (มากกว่า สำนวนเดิม ซึ่งใช้เพลงประโคมศพ) แล้วใช้ส่งปี่พาทย์ อย่างไรก็ดีแม้จะมีทางเป็นแบบเรียบๆ พื้นๆ ผู้แต่งก็ยังได้สอดแทรกชั้นเชิงแง่งอนอันคมคายไว้หลายตอนทีเดียว
      ต่อมาพระยาจิรายุมนตรี เมื่อครั้งยังมีราชทินนามเป็นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ได้ดำริจะให้มีทำยนองเพลงเทพรัญจวนที่วิจิตรพิสดารพลิกแพลง มีลูกล้อลูกขัดอีกทางหนึ่งเอาไว้สำหรับบรรเลงเป็นเที่ยวกลับ เพราะท่านผู้นี้เป็นเจ้าของละครนอกผู้หญิงที่มีชื่อเสียงในสมัยต้น รัชกาลที่ 5 และมีวงปี่พาทย์ประจำบ้านด้วย ท่านจึงมอบหมายให้ครูช้อย สุนทรวิทิน กับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ประจำวงของท่าน ได้ช่วยกันแต่งเพลงเทพรัญจวนขึ้นอีกทางหนึ่ง (เที่ยวกลับ) ตามดำรินั้น นำออกบรรเลงขับร้องให้เข้าชุดกันกับเพลงเทพรัญจวน ทำนองสามชั้นของพระประดิษฐ์ไพเราะ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมากเป็นที่นิยมในวงการดนตรีขณะนั้นอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นประเพณีนิยม หากจะบรรเลงเพลงเทพรัญจวนสามชั้นแล้ว เที่ยวแรก (ตัน) จะใช้ทางของพระประดิษฐ์ไพเราะ ส่วนเที่ยวกลับจะใช้ของครูช้อย สุนทรวาทิน กับของพระยาประสานดุริยศัพท์
      เหตุการณ์ล่วงมาจนถึงยุคที่มีคนนิยมฟังเพลงเถาอย่างแพร่หลาย ได้มีผู้เชี่ยวชาญการดนตรีและการแต่งเพลง   (สังคีตาจารย์) ได้นำเพลงเทพรัญจวนมาตัดแต่งเป็นเพลงเถาขึ้นหลายสำนวนเช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ แต่สำนวนหรือทางที่แพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างสูงนั้น เห็นจะได้แก่ทางของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งได้ทำไว้เมื่อราวปีพุทธศักราช 2473

      ในการแต่งครั้งนั้น นอกจากหลวงประดิษฐ์ไพเราะจะได้ตัดแต่งทำนองสองชั้นและชั้นเดียวจากทาง(สำนวน) ของเดิมทั้งทำนองร้องและทำนองดนตรีครบเปป็นเพลงเถาตามปกติอัตราแล้ว ท่านยังมีการปรุงแต่ง (ตกแต่ง) อัตราสามชั้นให้ดำเนินลีลาแปลกเปลี่ยนไปจากทำนองสามชั้นของเดิม พร้อมทั้งตัดแต่งทำนองสองชั้นและชั้นเดียวจากอัตราสามชั้น ซึ่งท่านปรุงแต่งขึ้นใหม่นี้ครบเป็นเถาไว้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งยีงคงเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น